การเตรียมการสักการะพระพิฆเนศ



การสักการบูชาขอพร พระพิฆเนศ ไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นอาชีพใด ประชาชนทุกชนชั้นวรรณะ ก็สามารถขอพรจากพระองค์ท่านได้ไม่จำกัด เพราะท่านเป็นมหาเทพที่ใจดี มีปัญญาลึกล้ำ แก้ไขปัญหาได้เก่ง จนได้รับการขนานนามให้เป็น "เทพเจ้าแห่งความสำเร็จ"

วิธีบูชาพระพิฆเนศ วันที่เริ่มต้นครั้งแรกควรเริ่มบูชาในวันอังคาร หรือวันพฤหัสบดี เพื่อถวายตัวเป็นผู้ศรัทธา หรือลูกศิษย์ของพระพิฆเนศ วันต่อไปให้สักการะตามปกติ จะเป็นฤกษ์ยามใดถือเป็นมงคลทั้งสิ้น ของที่ใช้ในการสักการบูชาได้แก่ น้ำสะอาด นม น้ำมะพร้าว แต่ถ้ามีเครื่องสังเวยควรใช้ผลไม้และขนมต่างๆ เช่น อ้อย กล้วยสุก มะพร้าว ... เลือกถวายได้ตามศรัทธา และกำลังทรัพย์ แต่ถ้าสามารถถวายได้ทุกวันก็จะเป็นการดี

วันและเดือนที่เหมาะแก่การบูชาพระพิฆเนศ หลังจากที่ถวายตัวเป็นผู้ศรัทธาในวันอังคาร หรือวันพฤหัสบดีแล้ว ก็สามารถบูชาได้ทุกวัน ทุกเดือน โปรดเข้าใจไว้ว่าไม่มีวันใดที่ไม่เหมาะแก่การบูชาพระพิฆเนศเลย ผู้ศรัทธาสามารถกราบไหว้ สักการะบูชาองค์พระพิฆเนศได้ทุกวัน ทุกเดือน และขอพรได้ตลอดเวลา

เครื่องสังเวยพระพิฆเนศ ห้ามใช้เนื้อสัตว์ทุกชนิด (สามารถใช้ขนมที่มีส่วนผสมของไข่ได้บ้าง แต่ถ้าเลือกได้ก็ควรเลี่ยง) ให้ถวายผลไม้ที่สุกแล้วเป็นหลัก อ้อย น้ำอ้อย นมวัว ขนมโมทกะ (หรือ ขนมต้มแดง ต้มขาว ของไทย) หรือขนมหวานลาดูป (ชาวอินเดียนิยมถวาย) ตลอดจนข้าวสาร เกลือ พืช ผัก งา สมุนไพร ธัญพืชและเครื่องเทศทุกชนิด ก็สามารถใช้ถวายได้

เทศกาลคเณศจตุรถี

เทศกาลคเณศจตุรถี นับเป็นเทศกาลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของการบูชาพระพิฆเนศ จะกระทำในวันแรม 4 ค่ำ เดือน 9 และวันแรม 4 ค่ำ เดือน 10 ซึ่งถือว่าเป็นวันกำเนิดของพระพิฆเนศ เชื่อกันว่าพระองค์จะเสด็จลงมาสู่โลกมนุษย์เพื่อประทานพรอันประเสริฐสูงสุด แก่ผู้ศรัทธาพระองค์ท่าน เทศกาลนี้มีการจัดพิธีกรรมบูชาและการเฉลิมฉลองอย่างยิ่งใหญ่ทั่วอินเดียและ ทั่วโลก มีการจัดสร้างเทวรูปพระพิฆเนศขนาดใหญ่โตมโหฬาร เพื่อเข้าพิธีบูชา จากนั้นจะแห่องค์เทวรูปไปทั่วเมืองและมุ่งหน้าไปสู่แม่น้ำศักดิ์สิทธิ์สาย ต่างๆ ถนนหนทางทั่วทุกหนแห่งจะมีแต่ผู้คนออกมาชมการแห่องค์เทวรูปนับร้อยนับพัน องค์ ผู้ศรัทธาทุกคนแต่งชุดส่าหรีสีสันสวยงาม ขบวนแห่จะไปสิ้นสุดที่แม่น้ำศักดิ์สิทธิ์ เช่น แม่น้ำคงคา แม่น้ำสรัสวตี ฯลฯ แล้วทำพิธีลอยเทวรูปลงสู่แม่น้ำหรือทะเล

เทศกาลคเณศจตุรถีและพิธีกรรมต่างๆ กระทำกันมาแต่โบราณ มีรายละเอียดปลีกย่อยอีกมากมาย และหนึ่งในพิธีกรรมที่กระทำกันก็คือ "เอกวีสติ ปัตรบูชา" หรือการบูชาด้วยใบไม้ 21 ชนิดเป็นเวลา 21 วัน