ที่ระลึกงานเทวาภิเษกพระพิมพ์ เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ 2545
โดย : ดร.จิรพัฒน์ ประพันธ์วิทยา
http://www.karaikudi.com/pillayarpatti.htm
พระคเณศ หรือ พระพิฆเนศ ที่เก่าแก่ที่สุดในโลกอยู่ที่หมู่บ้านปิลไลยาร์ปัตติ ห่างจากเมืองกะไลกุดิ ศิวะดังไค รัฐทมิฬนาดู อินเดียใต้ 12 กม. บนเส้นทางระหว่างเมืองกะไลกุดิ-มทุไร หมู่บ้านปิลไลยาร์ปัตติ ได้ชื่อมาจากเทวาลัยพระวินายกะ หรือ เทวาลัยพระคเณศแห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ ณ หมู่บ้านแห่งนี้
ชาวทมิฬจะเรียกพระคเณศว่า ปิลไลยาร์ (Pillaiyar) เทวาลัยแห่งนี้เป็นที่เคารพนับถือของผู้คนจำนวนมาก ผู้ที่มากราบไหว้บูชาจะได้รับพรให้ประสบความสำเร็จในสิ่งที่ปรารถนาจนเป็นที่เลื่องลือ มีผู้ให้สมญานามท่านว่า กัลปกะ วินายักกา หมายถึง ผู้ประทานสิ่งที่ต้องการเสมือนต้นกัลปพฤกษ์ เพราะคนเชื่อว่า ขอสิ่งใดก็ได้สิ่งนั้น
เทวาลัยแห่งนี้มีมีหลักฐานคือจารึกบนหิน 14 หลัก มีอายุตั้งแต่ พ.ศ. 943-1781 สถานที่แห่งนี้เดิมทีมีชื่อว่า "เอกกัตตูร์" "ติรุวีนไกกุดี" "มรุตันกุดี" "ราชานารายณปุรัม" ก่อนที่จะมาเรียกกันว่า ปิลไลยาร์ปัตติ
ราวปี พ.ศ.1827 สถานที่แห่งนี้ตกเป็นสมบัติของพวกนาคะรถะร์ หรือพวกเฉตติย์ นัตตุกโกฏไต พระนามเดิมของพระคเณศที่เทวาลัยแห่งนี้คือ "เทศี วินายกะ ปิลไลยาร์"
เทวาลัยแห่งนี้สร้างโดยวิธีสลักโขดหินขึ้นจนเป็นเทวาลัย ไม่ใช่โดยวิธีก่อสร้างทั่วไป โดยพระราชาราชวงศ์ปาณฑยะยุคต้นๆ เทวรูปพระกัลปกะ วินายกะ และพระศิวลึงก์ ก็สลักจากหินเป็นก้อนๆโดยประติมากรชื่อ "เอกัฏตูร์ กูน เปรุปรนัน" ซึ่งได้เซ็นชื่อเป็นภาษาทมิฬไว้ อักษรที่ใช้เซ็นชื่อเป็นอักษรที่ใช้ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 7 ถึงพุทธศตวรรษที่ 10 ลักษณะที่แตกต่างไปจากพระคเณศองค์อื่นๆคือ งวงหันไปทางด้านขวาของเทวรูป ซึ่งลักษณะอย่างนี้หายากยิ่งเหมือนสังข์ทักษิณาวรรต ลักษณะอีกประการหนึ่งก็คือเทวรูปพระคเณศองค์นี้หันพระพักต์ไปทางทิศเหนือ อีกสิ่งหนึ่งที่บ่งบอกว่าเทวาลัยแห่งนี้เก่าแก่คือ มีร่องรอยของการบูชาต้นไม้ ต้นไม้ประจำเทวาลัยแห่งนี้คือไม้มรุธัม ต้นไม้ดังกล่าวที่ตายแล้วยังได้รับการกราบไหว้จนทุกวันนี้
Pillayar Patti Temple เทวาลัยพระพิฆเนศที่เก่าแก่ที่สุดในโลก
เป็นที่ประดิษฐานเทวรูปพระพิฆเนศที่มีนามว่า Pillayar Patti
ที่มา:
เอกสารประวัติและคำสวดสรรเสริญเทพเจ้า ที่ระลึกงานเทวาภิเษกพระพิมพ์ เทวสถานโบสถ์พราหมณ์ 2545 โดย : ดร.จิรพัฒน์ ประพันธ์วิทยา